ZHU DAYU Culture Museum (祝大漁物産文創館)

ท่าเรือประมงหนานฟางอ้าว ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ท่าเรือประมงที่ใหญ่ที่สุดของไต้หวัน และยังเป็นท่าเรือที่จับปลาซาบะได้ปริมาณมากที่สุดในไต้หวันด้วย ซึ่งในบริเวณท่าเรือประมงยังเป็นที่ตั้งจองพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมการจับปลา ที่ชื่อว่า ZHU DAYU Culture Museum (祝大漁物産文創館) ก่อตั้งเมื่อปี 2015 บริหารงานโดยสมาคมประมงเขตซูอ้าว (蘇澳區漁會) ไฮไลท์ของที่นี่คือภาพสามมิติในอาคารที่พอเราเดินเข้าไปแล้ว เสมือนเราอยู่ในท้องทะเลอันกว้างใหญ่ ที่ภาพของปลาซาบะ  ปลาฉลามวาฬ ปลาบิน ปลาอีโต้มอญ ที่จับได้มากในลำน้ำบริเวณนี้





อ่านบทความเกี่ยวกับท่าเรือประมงหนานฟางอ้าว ได้ที่ https://mylovelytaiwan.blogspot.com/2021/02/blog-post_15.html

ปลาซาบะ ภาษาจีนเรียกว่า“ชิงอวี๋-鯖魚”คำว่า“ซาบะ”ป็นภาษาญี่ปุ่น จัดเป็นปลาแมคเคอเรลจำพวกหนึ่ง มีรูปร่างเรียวยาวคล้ายกระสวยหรือจรวด เป็นปลาผิวน้ำ อาศัยอยู่เป็นฝูง เพราะฉะนั้นเวลาที่ถูกจับก็จะถูกจับทั้งฝูง ว่ายน้ำได้รวดเร็ว โดยมากเป็นปลาที่พบกระจายพันธุ์ในมหาสมุทรและน่านน้ำเขตหนาว ปลาซาบะที่จับได้ในไต้หวันมี 2 ชนิด ซึ่งชนิดที่ 1 คือ Blue mackerel ภาษาจีนเรียกว่า“ฮัวฟู่ชิง-花腹鯖” ส่วนคนญี่ปุ่นเรียกว่า“โกมาซาบะ”(Goma Saba) ลักษณะของปลาซาบะชนิดนี้จะมีจุดดำตามท้องและลำตัว ความอร่อยของปลาซาบะชนิดนี้อยู่ที่ไขมันและน้ำมันที่อยู่ตามผิวและลำตัว มีประโยชน์เพราะมีไขมันดี พบแพร่กระจายอยู่ในบริเวณน่านน้ำของเม็กซิโก  หมู่เกาะฮาวาย  ในเขตทะเลแดงรวมทั้งอ่าวเปอร์เซีย  ยังพบมากในแถบประเทศญี่ปุ่น ตอนใต้ของออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ไต้หวัน(จับได้แถบเกาะกุยซานหรือชายฝั่งตะวันออก)  ส่วนปลาซาบะชนิดที่ 2 ภาษาจีนเรียกว่า“ไป๋ฟู่ชิง-白腹鯖”คนญี่ปุ่นเรียกว่า“มะซาบะ”(Ma Saba) บางคนเรียกว่า Pacific mackerel ลักษณะของปลาซาบะชนิดนี้ลำตัวสีน้ำเงินท้องสีขาวและมีจุดสีดำตามลำตัว อาศัยอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก พบว่ามีแหล่งแพร่กระจายเป็นพื้นที่กว้างกว่าชนิดแรก อยู่แถบอเมริกาทางฝั่งตะวันตกคือด้านที่ติดกับมหาสมุทรแปซิฟิก  และเรียงลงมาทั้งแถบของทวีปอเมริกาใต้  มหาสมุทรอินเดีย ซีกตะวันออกของทวีปแอฟริกาเลาะไปจนถึงแถบทะเลอาราเบียรวมทั้งปากีสถาน  อินเดีย  ศรีลังกา  และยังพบมากรอบเกาะออสเตรเลีย  รวมทั้งแถบชายฝั่งด้านตะวันออกของจีนแผ่นดินใหญ่ ไต้หวัน เกาหลี  ญี่ปุ่น  จนจรดฝั่งตะวันออกของรัสเซียด้วย

ข้อมูลดีๆ จาก Radio Taiwan International

Comments