เที่ยวจินเหมิน(金門) ตอนที่ 4 หมู่บ้านโบราณสไตล์ดั้งเดิม (金門傳統聚落) เทพเจ้าสิงโตแห่งลม (風獅爺)หมู่บ้านวัฒนธรรมพื้นบ้านชานโฮว (山後民俗文化村) หมู่บ้านเป่ยซาน (北山村) ชุมชนฉงหลิง (瓊林聚落)

มรดกทางวัฒนธรรม (Cultural Heritage) จากบันทึกทางประวัติศาสตร์ประชากรส่วนใหญ่ของมณฑลจินเหมินมีการอพยพมาจากที่ราบลุ่มภาคกลางของจีนเมื่อกว่า 1,600 ปีที่ผ่านมา เพื่อหนีจากภาวะสงครามและภัยพิบัติและได้เข้ามาพัฒนาที่ดินเพื่อการเพาะปลูกดำรงชีวิต จนก่อให้เกิดวัฒนธรรมท้องถิ่นที่แข็งแกร่งและส่งต่อมรดกทางวัฒนธรรมที่หลากหลายมาสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน รูปแบบสถาปัตยกรรมของบ้านเรือนที่อยู่อาศัยและประเพณีท้องถิ่นเป็นรูปแบบตามประเพณีเก่า แม้ว่าความเจริญของไต้หวันจะรุดหน้าไปมากแล้ว ทว่าจากการเข้ามาดูแลของทางทหารอย่างยาวนานกว่า 40 ปีกลับมีส่วนช่วยในการคงไว้ซึ่งมรดกทางประวัติศาสตร์ได้อย่างสมบูรณ์และกลายเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้เป็นอย่างดี ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ว 39 แห่ง (ข้อมูลดีๆ จากเว็บไซต์ตะลอนเที่ยวดอทคอม)

สิ่งที่พลาดไม่ได้ที่จะไปชมก็คือ หมู่บ้านโบราณสไตล์ดั้งเดิม (金門傳統聚落) มีทั้งศิลปะแบบฝูเจี้ยนและศิลปะแบบผสมผสาน เช่น บ้านคนจินเหมินที่สามีไปทำงานที่เอเชียอาคเนย์ ทำธุรกิจร่ำรวยนำเงินกลับมาสร้างบ้าน บ้านก็จะผสมผสานกับวัฒนธรรมทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือนักธุรกิจที่ทำธุรกิจกับญี่ปุ่นก็จะมีบ้านออกมาแนวจีนปนญี่ปุ่น ซึ่งสถาปัตยกรรมหรือภาพวาดแต่ละแบบก็แฝงไปด้วยความหมายมากมาย

ลักษณะหลังคาของสถาปัตยกรรมสไตล์หมิ่นหนานที่เรียกว่าเยี่ยนเหวย หรือหางนกกระจอก (燕尾)และเป่ยหม่า (馬背) หรือหลังม้า

หมู่บ้านวัฒนธรรมพื้นบ้านชานโฮว (山後民俗文化村) ตั้งอยู่ในหมู่บ้านชานโฮว สร้างขึ้นในปี 1900 ด้วยเนื้อที่ประมาณ 4,000 ตารางเมตร ภายในประกอบด้วยอาคารและบ้าน 18 หลัง แบ่งเป็น 3 แถว แถวละ 6 หลัง  มีรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบฝูเจี้ยนดั้งเดิม สร้างโดยชาวจีน-ญี่ปุ่น หวังกู่เฉิง  (王國珍) และหวังฉิงเสียง (王敬祥) สองพ่อลูกที่สร้างให้กับญาติๆ วัสดุก่อสร้างทั้งหมดถูกส่งข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากจังหวัดจีน ใช้เวลาในการก่อสร้างราว 20 ปี ประกอบด้วยห้องโถงไหว้บรรพบุรุษ 1 หลัง ห้องเรียนหนังสือ 1 หลัง และบ้านญาติๆ อีก 16 หลัง โดยภายในชุมชนแฝงไปด้วยสถาปัตยกรรมและรูปภาพที่แฝงถึงความหมายที่ต้องการให้ผู้คนในครอบครัวศึกษาหาความรู้ นอกจากนี้ยังมีกลไกที่ป้องกันขโมยหรือป้องกันผู้บุกรุกอีกมากมาย เนื่องจากในสมัยนั้นผู้เป็นพ่อหรือเป็นลูกชายจะข้ามน้ำข้ามทะเลไปทำงานต่างแดน ตอนที่ไม่อยู่บ้านก็เป็นห่วงคนในครอบครัว จึงได้ทำกลไกต่างๆ ไว้เพื่อป้องกันคนบุกรุก ในปัจจุบันมีอาคารบางหลังที่นำมาทำเป็นเกสต์เฮ้าส์ให้คนเข้าพักในบรรยากาศบ้านโบราณน่ารักๆ ด้วย








หมู่บ้านเป่ยซาน (北山村)  เป็นหมู่บ้านที่มีชื่อเสียงของเขตกู่หนิงโถว ถือเป็นที่ตั้งยุทธศาสตร์ที่มีความสำคัญต่อการรบในสมัยสงครามกู่หนิงโถวเป็นอย่างมาก


ชุมชนฉงหลิง (瓊林聚落) เป็นชุมชนที่อยู่อาศัยที่ใหญ่ที่สุดในสมัยก่อน จุดเด่นคือพื้นที่ส่วนกลางที่เป็นที่ตั้งของศาลเจ้าซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางของครอบครัว รวมทั้งยังมีลักษณะของตัวบ้านที่เก่าแก่และวัดวาอารามมากมาย ตัวบ้านสร้างขึ้นมาจากอิฐสีแดงและมีรูปทรงแปลกตาหลังคารูปกลีบบัว ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นสถาปัตยกรรมแบบหมิ่นหนานดั้งเดิม ถึงแม้ว่าจินเหมินจะต้องเผชิญกับช่วงสงครามอยู่หลายครั้งทว่าหมู่บ้านกลับโชคดีรอดพ้นจากการถูกทำลายและสามารถอยู่ในสภาพเดิมได้จนถึงทุกวันนี้ (ข้อมูลดีๆ จากเว็บไซต์ตะลอนเที่ยวดอทคอม) ชุมชนแห่งนี้เป็นที่อยู่อาศัยของตระกูลไช่ โดยมีโถงไหว้บรรพบุรุษเล็กใหญ่รวมถึง 6 หลังในหมู่บ้าน 








นอกจากนี้ ยังมี ทพเจ้าสิงโตแห่งลม (風獅爺)เทพเจ้าสิงโตโด่งดังของจินเหมินเป็นที่รู้จักกันดีของชาวบ้านมีขนาดค่อนข้างใหญ่ราวๆ 2 เมตร ให้กราบไหว้กันอีกด้วย 
เทพเจ้าสิงโตแห่งลมหรือเฟิงซือเหย่นี้เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ที่สำคัญของเกาะจินเหมินมายาวนานหลายร้อยปี โดยทั่วเกาะจะมีรูปปั้นสิงโตกระจายอยู่กว่า 100 ตัว ถูกสร้างไว้รอบๆ หมู่บ้านหรือบริเวณปากแม่น้ำ ปากอ่าวหรือริมทะเล โดยชาวบ้านจะเชื่อกันว่าเทพเจ้าสิงโตแห่งลมจะสามารถปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายออกไปและนำพาความโชคดีมาให้ผู้คนที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านได้ อีกทั้งยังเชื่ออีกว่าหากใครได้สัมผัสรูปปั้นเทพเจ้าสิงโตแห่งลมหากเป็นผู้ชายจะอายุยืนและหากเป็นผู้หญิงที่แต่งงานแล้วจะช่วยให้ตั้งครรภ์ได้ง่ายขึ้นอีกทั้งยังช่วยให้ได้ลูกชายอีกด้วย พื้นที่ที่สามารถพบเทพเจ้าแห่งลมได้มากที่สุดคือเขตจินซา ซึ่งเต็มไปด้วยลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนืออย่างไม่หยุดยั้งในแต่ละฤดู ดังนั้นจึงมีการวางเทพเจ้าสิงโตแห่งลมไว้เพื่อป้องกันอันตรายเป็นจำนวนมาก รูปปั้นแต่ละตัวถึงแม้จะคล้ายกันแต่ก็ไม่เหมือนกันซักทีเดียว รูปปั้นส่วนใหญ่จะอยู่ในท่ายืนตรงแต่ก็สามารถพบเห็นได้ในลักษณะท่าทางอื่นๆ อย่างนอนหรือหมอบ และทุกตัวจะมีปากที่กว้างและยาวกำลังอ้าปากเพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่ากำลังกลืนกินลมและสิ่งชั่วร้ายที่พยายามจะมาทำอันตรายชาวบ้าน และโดยส่วนใหญ่จะไม่มีการทาสีให้กับรูปปั้นแต่บ้างก็นิยมตกแต่งด้วยสีสันสดใสเพื่อความสวยงาม 


จากการเล่าขานกันมาแต่เดิมเกาะจินเหมินเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยป่าเขียวขจี จากนั้นเมื่อประมาณหนึ่งพันปีก่อนเริ่มมีผู้คนอพยพเข้ามาอาศัยและเริ่มต้นพัฒนาพื้นที่เพื่อการเกษตร และมากกว่า 300 ปีของการก่อกบฏ ทำให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่าและปล่อยให้บางส่วนของเกาะกลายเป็นพื้นที่รกร้าง ทำให้มีลมมรสุมพัดดินมาปกคลุมไว้ ก่อเกิดเป็นเนินทรายและทำให้มีพายุทรายเกิดขึ้น และเพื่อป้องกันพายุเหล่านี้รูปปั้นเทพเจ้าสิงโตแห่งลมจึงได้ถูกสร้างขึ้นมาในรูปแบบต่างๆ ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของแต่ละคน และมีการเริ่มนำเข้าไปวางไว้ตามด้านหน้าของหมู่บ้านหรือฝังตัวไว้ในกำแพงบ้าน ซึ่งเป็นความเชื่อของชาวบ้านในยุคแรกๆ ว่าจะสามารถช่วยปกป้องอันตรายจากพายุทรายได้นั่นเอง











Comments