เที่ยวจินเหมิน(金門) ตอนที่ 3 จวู่กวงโหลว(莒光樓)ตู้โทรศัพท์จินเหมิน(金門電話亭)บ้านพักเดิมของท่านเย่หัวเฉิง (葉華成) บิดาแห่งเกาเหลียง

จวู่กวงโหลว(莒光樓) อาคาารหลังนี้สร้างขึ้นในปี 1952 เพื่อยกย่องทหารผู้กล้าหาญที่เสียสละต่อสู้รบเพื่อจินเหมินในอดีต โดยเฉพาะท่านนายพลหูเหลียน (胡璉) ผู้ที่สร้างคุณูปการแก่จินเหมินไว้มากมาย เป็นอาคารสามชั้น แต่ละชั้นมีนิทรรศการแสดงวัฒนธรรมประเพณี อาหารการกินของชาวจินเหมิน นกอพยพ ธรรมชาติในเมืองจินเหมิน  ภายในหอประชุมชั้น 1 มีป้ายที่เขียนว่า "毋忘在莒" (อู๋วั่งไซ่จวู๋) หรือแปลว่าอย่าลืมความยากลำบากเมื่อในอดีต ซึ่งคนจินเหมินยึดถือคำกล่าวนี้ไว้ในใจเป็นพื้นฐานของการใช้ชีวิตในปัจจุบัน และในชั้น 3 เป็นที่จัดแสดงนิทรรศการชีวประวัติของท่านนายพลหูเหลียนและแสดงเครื่องราชย์ของท่านด้วย ในอดีตไปรษณีย์ไต้หวันได้นำจวู่กวงโหวแห่งนี้มาทำเป็นภาพในแสตมป์ถึง 4 ครั้งเลยทีเดียว


มองออกไปจากจวู่กวงโหลว จะเห็นเกาะจินเหมินน้อย ที่มีความใกล้ดินแดนของจีนเข้าไปอีก โดยเกาะจินเหมินน้อยกับมณฑลเซี๊ยะเหมินห่างกันเพียง 2 กิโลเมตรเท่านั้น ด้านขวาจะเห็นสะพานที่รัฐบาลจินเหมินกำลังสร้างเพื่อข้ามจากเกาะจินเหมินใหญ่ไปเกาะจินเหมินน้อย นอกจากนี้ช่วงเวลาที่น้ำลงยังสามารถเดินไปเกาะจินเหมินน้อยได้เลย

ด้านหน้าของจวู่กวงโหลว มีตู้โทรศัพท์ที่มีลักษณะแปลกตา (金門電話亭) ถือเป็นสัญลักษณ์ของเมืองจินเหมินที่ไม่สามารถหาดูได้ที่อื่นในไต้หวันจนมีคนนำมาเป็นแม่เหล็กติดตู้เย็น ที่ใส่ปากกา ของประดับตั้งโต๊ะ

บ้านพักเดิมของท่่านเย่หัวเฉิง (葉華成) บิดาแห่งเกาเหลียง ปัจจุบันได้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์โรงกลั่นเหล้าเกาเหลียง ต้นเหตุคือด้วยภาวะสงครามทำให้ท่านไม่สามารถเดินทางกลับไปยังสิงคโปร์ได้ ท่านจึงเห็นเกาเหลียงหรือข้าวฟ่างที่ปลูกมากมายในจินเหมินสมัยนั้น แล้วคิดนำมาหมักเป็นสุรา โดยได้ทดลองทำไป รับฟังความคิดเห็นจากบรรดาเหล่าทหารในสมัยนั้นไปจนได้ผลงานออกมาเป็นเหล้าเกาเหลียงที่เรารู้จักกันในสมัยนี้ 
ท่านเย่หัวเฉิงได้เปิดโรงกลั่นสุราจินเฉิง (金城酒廠) ในปี 1950 เพื่อกลั่นเหล้าเกาเหลียงในเมืองจินเหมิน และเมื่อปี 1951 ท่านหูเหลียน (胡璉) ผู้บัญชาการป้องกันจินเหมินในสมัยนั้น ได้ชิมเกาเหลียงของท่านเย่และชื่นชมในรสชาติ ประกอบกับในตอนนั้นกองกำลังทหารที่ดูแลจินเหมินกำลังประสบปัญหาทางการเงิน จึงได้คิดจะเปิดเป็นโรงกลั่นเหล้าเกาเหลียงของกองบัญชาการทหารเอง ซึ่งในตอนแรกท่านหูต้องการจ้างท่านเย่ผลิตให้ แต่ถูกปฏิเสธเนื่องจากท่านเย่คิดว่าเขาไม่มีกำลังการผลิตสุราได้มากขนาดนั้น ในปีต่อมาท่านหูตัดสินใจใช้อำนาจของเขาแต่งตั้งให้ท่านเย่เป็นผู้จัดการฝ่ายเทคนิคของโรงกลั่นของกองบัญชาการและได้ควบรวมโรงกลั่นจินเฉิงของท่านเย่มาไว้ด้วยกันด้วย ในปี 1954 ได้ก่อสร้างโรงงานแห่งใหม่เสร็จสมบูรณ์และตั้งชื่อว่า โรงกลั่นจิ่วหลงเจียง (九龍江酒廠) ในปี 1956 เมื่อมีการย้ายรัฐบาลมณฑลฝูเจี้ยนไปยังไต้หวัน จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็นโรงกลั่นจินเหมิน (金門酒廠) 







Comments